วันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2551

การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียงของราชบัณฑิตยสถาน




หลายวันที่ผ่านมา ผมได้ลองเข้าวิกิพีเดีย สารานุกรมออนไลน์ที่ผมชอบมันบ้าง ไม่ชอบมันบ้าง แล้วก็เผอิญไปเจอเพจนี้เข้า
http://th.wikipedia.org/wiki/การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียงของราชบัณฑิตยสถาน
ผมมานั่งคิดดู มันเหมาะกับคนไทยเราเป็นอย่างมาก เพราะบรรพบุรุษของเราท่านได้รังสรรค์พยัญชนะและสระไว้เป็นจำนวนมาก
การจะเทียบเสียงมาเป็นชื่อตัวในภาษาอังกฤษก็คงจะไม่ใช่เรื่องง่ายสักเท่าใดนัก
เช่นคนคนหนึ่ง ชื่อ อำมฤต สุขสุวรรณ (นามสมมติ) ถ้าท่านได้เข้าไปดูตาราง และเทียบเสียงตามนี้ จะลองเขียนออกมาได้ว่า
Ammarit Suksuwan
มันมีข้อดี สมมติคุณชื่อพร ถ้าคุณเขียนว่า Porn ชาวต่างชาติอาจจะรู้สึกกับคุณแปลก ๆ
ถ้าเขียนว่า Phon มันก็ดีกว่า Porn เป็นแน่แท้
บางคนอาจจะเถียงว่า ชาวอังกฤษอาจจะทะลึ่งไปอ่านว่า ฟน ผมยืนยันว่า ถ้าเป็นชาวยุโรปที่ไม่ใช่ผู้ที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นเบื้องต้น ถึงอย่างไรเขาก็ต้องอ่านว่า พล ไม่ก็ พร จนได้
เพื่อไม่ให้ ปวดเศียรเวียน head มากไปกว่านี้ เรามีแนวทางที่ถูกในการเขียน ถึงแม้ว่าการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียงของราชบัณฑิตยสถาน อาจไม่เป็นที่ต้องตาต้องใจใครหลาย ๆ คนในที่นี้
เช่นสมมติมีครูท่านหนึ่ง ชื่อครูวันเพ็ญ
ถ้าท่านเขียนตามการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียงของราชบัณฑิตยสถาน จะได้ว่า
Wanphen
แต่ถ้าท่านใช้หลักการอย่างอื่น ท่านก็อาจจะเขียนชื่อท่านว่า Onepen
ก็คงไม่ได้ถึงกับต้องไปว่าท่าน เพราะของแบบนี้มันนานาจิตตัง
ผมมีเพื่อนคนหนึ่งชื่อเปิ้ล หล่อนเขียนชื่อหล่อนว่าดังนี้
Ple ถ้าผมเป็นชาวต่างประเทศ ผมน่าจะอ่านว่า เพล่ หรือ พลี่ มากกว่าจะอ่านว่า เปิ้ล
เข้าใจว่า คงจะถอดแบบมาจากคำว่า apple
ภควัฒน์
Pakawat
ถ้าถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียงของราชบัณฑิตยสถาน จะได้ว่า
Phakhawat
จะได้ออกเสียงต่างจากคนชื่อปริวรรต
Pariwat
ก็แล้วแต่วิจารณญาณของท่านครับ
สมมติว่าท่านรู้จักคนชื่อ นท The Stone (นามสมมติ) ท่านอาจจะเกรงว่าชื่อนี้สับสนกับคนชื่อนอต
ก็อาจจะเขียนว่า Nout โดยกำหนดให้อ่านว่านท ก็ตามใจครับ
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้