วันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

แนะนำเว็บไซต์นี้

เว็บนี้เป็นเว็บธรรมดาครับ แต่ผมไม่ธรรมดาแน่นอน
ถ้าผมจะบอกว่าผมจะมาสอนภาษาอังกฤษ ทุกคนคงเบื่อแน่ ๆ
ถ้าผมบอกว่าผมจะมาให้เกร็ดความรู้ภาษาอังกฤษแบบเบา ๆ ล่ะ คุณพอสนใจขึ้นไหม
ผม บีม เรียกว่านายบีมก็แล้วกันนะครับ เป็นอะไรดีล่ะ แอดมิน (administrator)
หรือเจ้าของบล็อก (blog owner, blogmaster) เอาเถอะครับ ไม่ว่าคุณจะเรียกผมว่าอะไร
ผมก็ยังเป็นผมอยู่วันยังค่ำ
ผมแค่อยากปล่อยของดูบ้าง ผมเรียนรู้ภาษาอังกฤษมามากมาย ผมก็จะเล่าเท่าที่ผมรู้นะครับ
หัวข้อก็ตามอารมณ์ของผม
ใครอยากรู้เรื่องอะไร ส่ง message มาทางเฟซบุ๊กของผมได้ที่ www.facebook.com/Amaritkatze
หรือจะรับผมเป็นเพื่อนก็ได้นะครับ
ผมอยากบอกก่อนว่า ภาษาอังกฤษไม่ได้ยากเลย เมื่อเทียบกับภาษาต่างประเทศอื่น ๆ ที่มีตัวอักษรที่เขียนยาก
มีการผันคำตามเพศ พจน์ การก วาจก และสารพัดศัพท์ทางด้านไวยากรณ์ แถมเรียนไปก็หาที่ใช้ได้ยากกว่าภาษาอังกฤษ
แต่ไม่ได้บอกว่าไม่ให้เรียนภาษาต่างประเทศอื่น ๆ นะครับ
สาเหตุที่ผมสร้างบล็อกนี้ มีสองประการ
1.ต้องการเผยแพร่ความรู้
2.ต้องการช่วยเหลือผู้คนที่อาจจะมีปัญหาการใช้ภาษา
อย่าลืมนะครับว่า ทุกความสำเร็จในโลกล้วนต้องอาศัยความทุ่มเท อย่าหวังว่าเรียนเป็นแฟชั่นแล้วจะเก่ง
ต้องขยัน ขวนขวาย หาที่ใช้
ชาวต่างชาติมากมาย คุณก็ไปลองคุยกับเขาดูครับ เดี๋ยวก็ใช้ภาษาได้ดีเอง
สุดท้ายนี้ ผมขอแนะนำตัวละครหลัก ๆ สามตัวก่อนนะครับ ไว้อารมณ์ดี ๆ จะเพิ่มเป็นสี่ถึงห้าตัว
ตัวละครเหล่านี้ เป็นสิ่งสมมติทั้งสิ้น ไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์ สมาคม บุคคลจริงแต่อย่างใด
1.จินจัง เป็นสาวผอม ๆ หน้าตางั้น ๆ เธอเป็นเพื่อนร่วมงานในออฟฟิศของบิมุ เธอมีแฟนแล้วชื่อโระ เป็นชาวญี่ปุ่น
เธอชอบคิดว่าผู้ชายทุกคนเป็นสามีเธอ และจะบังคับขู่เข็ญต่าง ๆ นานาให้ชายเหล่านั้นทำงานให้เธอ ตามหลัก
ชายที่ดีต้องเสียสละให้สุภาพสตรี
2.บิมุ เป็นหนุ่มน้อยหน้าตาดี รูปร่างสมส่วน เป็นนักกีฬา เป็นเพื่อนร่วมงานของจินจัง อยู่แผนกเดียวกันด้วย
แต่มักโดนจินจังกระแนะกระแหนตลอดเวลา บิมุยึดหลักหิริ โอตตัปปะ ในการดำเนินชีวิต
3.สงคุง ชื่อจริงเขาชื่อสงสัย สงสัยว่าตนเองเกิดมาทำไม สงสัยว่าทำไมตนเองไม่มีแฟน สงสัยว่าทำไมกินข้าวขาหมู
ทุกวันจึงทำให้ตนเองอ้วนได้ขนาดนี้ สงคุงชอบบ่น สงคุงเป็นโอตะคุ ที่บ้านสะสมตุ๊กตาบาร์บี้ครบชุดไว้โดยที่น้องชายแท้ ๆ ก็ยังไม่รู้
น้องของสงคุงชื่อเจม เจมเป็นเด็กหน้าตาคล้ายสงมาก ๆ แต่น้ำหนักตัวน้อยกว่า คิดบวกมากกว่า นิสัยก็ดีกว่าสงคุงด้วย

หากท่านต้องการนำความรู้ไปเผยแพร่ต่อแบบออฟไลน์เพื่อการศึกษา สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
แต่หากท่านจะเผยแพร่ออนไลน์ กรุณาทำลิ้งค์ส่งมาถึงบล็อกนี้ด้วยครับ และขอความกรุณาอย่าแอบอ้างว่าตนเองเขียน
หากท่านเผยแพร่ ทำซ้ำ ดัดแปลงเพื่อการค้า กรุณาคุยกันก่อนดำเนินการใด ๆ นะครับ ขอบคุณครับ

วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2551

A Dime A Dozen


A Dime A Dozen
คำแรกที่เราต้องรู้จักคือคำว่า Dozen ซึ่งมีความหมายว่า 12 นั่นเอง
ไปดูตัวอย่างประโยคกันเลยครับ
Today I buy a dozen cups of coffee. The shopkeeper is amazed.
วันนี้ฉันซื้อกาแฟ 12 แก้ว ทำเอาเจ้าของร้านงงงวยกันเลยทีเดียว (ว่ามันซื้อไปกินฆ่าตัวตายหรือเปล่า)
It was a fluke that I have found a dozen eggs near the river.
โชคดีจังที่เจอไข่โหลหนึ่งริมแม่น้ำ (แต่ไม่รู้ไข่อะไรนี่สิ)
Jinjang, my college, starts to narrate the moment of her first kiss.
Oh No! I have heard this story a dozen times before.
จินจัง เพื่อนร่วมงานของฉันนะ แกตั้งหน้าตั้งตาจะเล่าเรื่องจุมพิตแรกอีกแล้ว ฉันได้ยินมาเป็นร้อย ๆ ครั้งแล้วแหละ

American น่าจะใช้สำนวน A Dime A Dozen กันมาก ถ้าจะทำให้เป็น British ก็น่าจะเป็นสำนวนว่า Ten A Penny
เพราะ Dime เป็นเงินเหรียญของอเมริกันชนและแคนาดาชน มีค่าแค่ 1 ใน 10 ของ Dollar แต่ Penny เป็นเงินของอังกฤษ
ประโยคตัวอย่าง
You are just a dime a dozen.
แกมันก็แค่คนไร้ค่า
Nowadays MBAs are a dime a dozen.
ตอนนี้นะ คนจบบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตมีมากมายเต็มไปหมด
หวังว่าเพื่อน ๆ พี่ ๆ คงพอเข้าใจความหมายของสำนวนนี้นะครับ สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ

วันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2551

การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียงของราชบัณฑิตยสถาน




หลายวันที่ผ่านมา ผมได้ลองเข้าวิกิพีเดีย สารานุกรมออนไลน์ที่ผมชอบมันบ้าง ไม่ชอบมันบ้าง แล้วก็เผอิญไปเจอเพจนี้เข้า
http://th.wikipedia.org/wiki/การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียงของราชบัณฑิตยสถาน
ผมมานั่งคิดดู มันเหมาะกับคนไทยเราเป็นอย่างมาก เพราะบรรพบุรุษของเราท่านได้รังสรรค์พยัญชนะและสระไว้เป็นจำนวนมาก
การจะเทียบเสียงมาเป็นชื่อตัวในภาษาอังกฤษก็คงจะไม่ใช่เรื่องง่ายสักเท่าใดนัก
เช่นคนคนหนึ่ง ชื่อ อำมฤต สุขสุวรรณ (นามสมมติ) ถ้าท่านได้เข้าไปดูตาราง และเทียบเสียงตามนี้ จะลองเขียนออกมาได้ว่า
Ammarit Suksuwan
มันมีข้อดี สมมติคุณชื่อพร ถ้าคุณเขียนว่า Porn ชาวต่างชาติอาจจะรู้สึกกับคุณแปลก ๆ
ถ้าเขียนว่า Phon มันก็ดีกว่า Porn เป็นแน่แท้
บางคนอาจจะเถียงว่า ชาวอังกฤษอาจจะทะลึ่งไปอ่านว่า ฟน ผมยืนยันว่า ถ้าเป็นชาวยุโรปที่ไม่ใช่ผู้ที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นเบื้องต้น ถึงอย่างไรเขาก็ต้องอ่านว่า พล ไม่ก็ พร จนได้
เพื่อไม่ให้ ปวดเศียรเวียน head มากไปกว่านี้ เรามีแนวทางที่ถูกในการเขียน ถึงแม้ว่าการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียงของราชบัณฑิตยสถาน อาจไม่เป็นที่ต้องตาต้องใจใครหลาย ๆ คนในที่นี้
เช่นสมมติมีครูท่านหนึ่ง ชื่อครูวันเพ็ญ
ถ้าท่านเขียนตามการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียงของราชบัณฑิตยสถาน จะได้ว่า
Wanphen
แต่ถ้าท่านใช้หลักการอย่างอื่น ท่านก็อาจจะเขียนชื่อท่านว่า Onepen
ก็คงไม่ได้ถึงกับต้องไปว่าท่าน เพราะของแบบนี้มันนานาจิตตัง
ผมมีเพื่อนคนหนึ่งชื่อเปิ้ล หล่อนเขียนชื่อหล่อนว่าดังนี้
Ple ถ้าผมเป็นชาวต่างประเทศ ผมน่าจะอ่านว่า เพล่ หรือ พลี่ มากกว่าจะอ่านว่า เปิ้ล
เข้าใจว่า คงจะถอดแบบมาจากคำว่า apple
ภควัฒน์
Pakawat
ถ้าถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียงของราชบัณฑิตยสถาน จะได้ว่า
Phakhawat
จะได้ออกเสียงต่างจากคนชื่อปริวรรต
Pariwat
ก็แล้วแต่วิจารณญาณของท่านครับ
สมมติว่าท่านรู้จักคนชื่อ นท The Stone (นามสมมติ) ท่านอาจจะเกรงว่าชื่อนี้สับสนกับคนชื่อนอต
ก็อาจจะเขียนว่า Nout โดยกำหนดให้อ่านว่านท ก็ตามใจครับ
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้